SME ควรบริหารคนอย่างไรในยุคที่อะไรก็ไม่แน่นอน

16 มี.ค. 2565

SME Playbook

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้โลกธุรกิจซึ่งรวมถึงธุรกิจ SME ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่มีความแน่นอน รวมถึงการแข่งขันทางธุรกิจที่สูงขึ้น ผลักดันให้ทุกบริษัท ทุกกิจการ ต้องปรับตัวและปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อประคับประคองตัวเองและทันต่อกระแสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่ผู้ประกอบการมองข้ามไม่ได้ก็คือ การบริหารคนในองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถลดต้นทุนและสร้างรายได้หรือผลกำไรได้สูงสุด หรือเรียกง่ายๆ ว่าบริหารคนตามแนวคิด Lean นั่นเอง แบ่งเป็น 4 ด้านหลักดังนี้

 

 

1. ปรับโครงสร้างให้คล่องตัว

หลายครั้งบริษัทจะพบว่าพนักงานมีหน้าที่ซ้ำซ้อนกัน ขอบเขตการทำงานไม่ชัดเจน ทำให้บางแผนกคนเยอะกว่างาน บางแผนกงานเยอะกว่าคน ทำให้บริษัทไม่สามารถสร้างผลผลิต (Productivity) ได้สูงสุด ผู้ประกอบการหรือผู้บริหารธุรกิจ SME อาจต้องย้อนกลับมาพิจารณาโครงสร้างองค์กร เพื่อกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละแผนกแต่ละตำแหน่งให้ชัดเจน สอดคล้องกับทิศทางในการทำธุรกิจ จากนั้นพิจารณาทักษะความสามารถของพนักงานว่าเหมาะสมกับตำแหน่งหรือแผนกที่ทำอยู่หรือไม่

ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันหลายบริษัทมีแนวโน้มปรับลดงานที่เป็น Routine ลง และนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ทดแทน ดังนั้นพนักงานที่จะเข้ากับโครงสร้างบริษัทยุคใหม่ได้ดีต้องสามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นได้อย่างคล่องแคล่ว หรือพร้อมที่จะเรียนรู้ และเรียนรู้ได้ไว หากทักษะความสามารถของพนักงานไม่ตอบโจทย์ความต้องการของบริษัท อาจต้องปรับเปลี่ยน โยกย้าย หรือแม้แต่บอกลากัน ซึ่งขั้นตอนนี้อาจนำไปสู่การปรับขนาดของบริษัท (Downsizing) เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและการแข่งขันทางธุรกิจ


 

 

2. รักษาพนักงานที่มีศักยภาพสูง

ทุกบริษัท ทุกองค์กรต้องการคนเก่ง และเมื่อมีคนเก่งอยู่ในมือแล้ว ต้องหาวิธีสร้างแรงจูงใจทำให้คนเหล่านั้นแสดงศักยภาพของตัวเองออกมามากที่สุด เช่น ประเมินผลการปฏิบัติงานที่เน้นผลสำเร็จของงานมากกว่าขั้นตอนการปฏิบัติงาน เพิ่มความถี่ในการประเมินผล อาจประเมินผลเป็นรายไตรมาสแทนรายปี โดยกำหนดเป้าหมายและวัดผลในกรอบเวลาที่ชัดเจนตามหลักการ  Objective and Key Results (OKR) เป็นต้น พร้อมให้ผลตอบแทนที่เหมาะสม หากพนักงานสามารถทำผลงานได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ รวมถึงจัดหาสวัสดิการที่เน้นความสมดุลในการทำงานและสุขภาพองค์รวมมารองรับ

นอกจากนี้ อาจปรับปรุงรูปแบบการทำงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ให้พนักงานสามารถเลือกช่วงเวลาการทำงานและสถานที่ที่เหมาะสมด้วยตนเอง ไม่ว่าจะทำงานที่บ้าน ที่ออฟฟิศ หรือผสมผสานกัน เพื่อให้พนักงานสามารถสร้างผลงานที่ดีที่สุดออกมา รวมถึงการสร้างความคล่องตัวในการทำงาน โดยลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น หรือลดงานด้านเอกสารลง

 

 

3. สร้างแรงขับในองค์กร

สร้างบรรยากาศการทำงานให้เกิดการแข่งขันทั้งในองค์กรและคู่แข่งภายนอก เพื่อกระตุ้นให้พนักงานพัฒนาการทำงานของตัวเองอย่างไม่หยุดนิ่ง พนักงานทุกคนต้องรู้ว่าคุณค่าหลักที่บริษัทนำเสนอต่อลูกค้าคืออะไร เข้าใจความต้องการของลูกค้า และรู้ว่าจะมอบสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้อย่างไร โดยมีการมอบรางวัลหรือการชมเชยต่อหน้าสาธารณะควบคู่กัน เช่น การมอบรางวัล “พนักงานดีเด่นประจำเดือน” รวมถึงการนำผลงานที่ทำได้ในแต่ละเดือนมาพิจารณาร่วมกัน ดูว่าตรงไหนสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้บ้าง

 

 

4. พัฒนาบุคลกรอย่างสม่ำเสมอ

ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในโลกธุรกิจมากขึ้นทุกวัน การพัฒนาทักษะของพนักงานก็ไม่ควรหยุดนิ่งเช่นกัน การสนับสนุนการเรียนรู้จะช่วยพัฒนาทักษะการทำงานของพนักงานให้ทันต่อยุคสมัย พร้อมต่อการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่บริษัทอาจนำเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ สามารถแข่งขันกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันได้อย่างทัดเทียม โดยสามารถสนับสนุนการเรียนรู้ทั้งในรูปแบบการเรียนด้วยตนเอง และการสมัครเรียนคอร์สสั้นๆ ที่กำหนดแนวทางการเรียนรู้แต่ละหัวข้ออย่างชัดเจน และใช้ระยะเวลาไม่นาน โดยอาจเลือกคอร์สเรียนที่ต้องการให้พนักงานเรียนรู้ หรือเปิดโอกาสให้พนักงานหาคอร์สเรียนที่ตนสนใจและสามารถนำมาต่อยอดการทำงานมานำเสนอได้

 

ที่มา: thestandard.co, www.prachachat.net

สาระ SME น่ารู้ที่เกี่ยวข้อง