15 ส.ค. 2565
SME Playbook
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยที่ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการประกาศล็อกดาวน์กรุงเทพ ฯ ปริมณฑล และ 4 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นเวลา 14 วัน ยิ่งเป็นโจทย์สุดหินที่ธุรกิจ SME จะต้องคิดและแก้ไขแผนการดำเนินธุรกิจ เพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์วิกฤตนี้ การกำหนดแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Plan หรือ BCP) จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจ SME ในเวลานี้ ไทยเครดิตจจึงรวบรวม 8 ประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องพิจารณา เพื่อเตรียมตัวรับมือกับช่วงเวลาที่ยากลำบากที่กำลังเกิดขึ้นนี้
1. ความปลอดภัยของพนักงานต้องมาก่อน
ศึกษาข้อมูลการรับมือกับโรคระบาด ประสานความร่วมมือทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตราการหรือวิธีสำรองในการปฏิบัติงานภายใต้แผน BCP โดยคำนึงถึงการนำไปใช้ได้จริง มีความเหมาะสมกับธุรกิจ และสื่อสารมาตรการดังกล่าวกับพนักงานอย่างชัดเจนและสม่ำเสมอ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน
2. จัดลำดับความสำคัญของกระบวนการทางธุรกิจ
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดอาจทำให้กระบวนการทางธุรกิจบางอย่างหยุดชะงักและส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ จึงจำเป็นต้องกำหนดหน้าที่หรือกระบวนการทางธุรกิจที่ต้องเฝ้าระวังและหาทางรับมือให้ได้เป็นอันดับต้นๆ จากนั้นจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็น เช่น พนักงาน คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และระบบงานที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่ผู้ให้บริการภายนอกที่จำเป็น ฯลฯ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างไม่ติดขัด
3. ตั้งทีมติดตามสถานการณ์เฉพาะกิจ
เลือกตัวแทนแต่ละแผนกมาร่วมทีมเฉพาะกิจ เพื่อติดตามสถานการณ์และดูแลด้านต่างๆ อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบภาวะวิกฤตทางการเงิน การวางแผนรับมือต่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน การวางแผนการตลาด/การขายท่ามกลางสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนไป รวมถึงสวัสดิการความเป็นอยู่ของพนักงาน
4. สำรวจสภาพคล่องของธุรกิจ
ตรวจสอบสภาพคล่องและงบดุลของธุรกิจ ลองสร้างสถานการณ์จำลองทางการเงินไว้หลายๆ รูปแบบ เพื่อหาแผนการรับมือ กำหนด Trigger ที่จะทำให้ธุรกิจขาดสภาพคล่องทางการเงิน เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจจะมีกระแสเงินสดมากพอที่จะประคองตัวให้อยู่รอดได้จนกว่าวิกฤตจะสิ้นสุด
5. เตรียมแผนสำรองสำหรับ Supply Chain
วางแผนรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดจากภาวะหยุดชะงักของซัพพลายเชนในประเทศ เน้นการบริหารสต็อคสินค้าให้สมดุลกับอุปสงค์ในตลาด ประสานงานกับซัปพลายเออร์หลักเพื่อหาแนวทางจัดการความเสี่ยงที่สอดคล้องกัน และเตรียมความพร้อมสำหรับความขาดแคลนด้านวัสดุอุปกรณ์ รวมถึงหาซัปพลายเออร์สำรองไว้
6. ปรับธุรกิจตามพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป
วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลและบริการเดลิเวอรีสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจและปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การเพิ่มช่องทางการขายสินค้าในแพลตฟอร์มดิจิทัล การเพิ่มบริการเดลิเวอรี เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าได้มากขึ้น
7. ทดสอบและปรับปรุงแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ
ไม่ว่าจะเตรียมการรับมือความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นไว้ดีแค่ไหน ก็ไม่มีใครบอกได้ว่าสถานการณ์ที่คาดการณ์ไว้จะเปลี่ยนไปเมื่อไหร่ ดังนั้น จึงควรหมั่นทดสอบแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าแผนการที่เตรียมไว้จะสามารถใช้ได้ผลจริงหากเกิดสถานการณ์วิกฤตขึ้น
8. วางแนวทางกิจกรรมเพื่อสังคมสร้างแบรนด์ให้เห็นชัดเจน
ปัจจุบันหลายบริษัทดำเนินธุรกิจโดยเน้นหลักความยั่งยืน จึงริเริ่มทำโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เพื่อพัฒนาชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมรอบข้างให้เติบโตไปด้วยกัน และในสถานการณ์วิกฤตโควิดก็ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ประกอบการจะแสดงน้ำใจและสร้างตัวตนแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ โดยเลือกกิจกรรมที่มีความสอดคล้องกับธุรกิจ เพื่อตอกย้ำแบรนด์ให้เห็นเด่นชัด เช่น หากทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร อาจทำโครงการอาหารกลางวันเพื่อบุคลากรทางการแพทย์ หรือคนยากไร้ หรือทำธุรกิจของเล่น อาจทำโครงการส่งเสริมด้านการศึกษา เป็นต้น กิจกรรมเพื่อสังคมเหล่านี้จะช่วยสร้างแบรนด์ให้อยู่ในใจลูกค้าได้อย่างยั่งยืน แม้จะผ่านวิกฤตนี้ไปแล้ว
ที่มา: www.g-able.com, marketeeronline.co