16 มี.ค. 2565
SME Playbook
วิกฤตนี้อีกนาน... บริหารกระแสเงินสดอย่างไรให้ธุรกิจ SME ไปรอด
คำกล่าวที่ว่า “Cash is King.” ยังคงเป็นจริงเสมอสำหรับการดำเนินธุรกิจ วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจหลายต่อหลายครั้งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าธุรกิจที่ยืนหยัดได้นานที่สุด ไม่ใช่ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุด แต่เป็นธุรกิจที่รักษาสภาพคล่องหรือกระแสเงินสด (Cash Flow) ไว้ได้ดีที่สุดต่างหาก เพราะตราบใดที่เรายังมีกระแสเงินสดในมือ ธุรกิจก็ยังดำเนินต่อได้แม้ในสถานการณ์คับขัน วิกฤตครั้งนี้ก็ไม่ต่างกัน ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการ SME จะต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการกระแสเงินสดให้มีประสิทธิภาพ
หลักการบริหารกระแสเงินสดในช่วงเวลาวิกฤต
1. ใช้เทคโนโลยีช่วยในการบริหารกระแสเงินสด
ลงทุนในเทคโนโลยีที่ช่วยจัดการระบบหลังบ้าน ไม่ว่าจะเป็นบัญชีเงินเดือน การทำบัญชี การบริหารสินค้าคงคลัง ยอดขายรายวัน และอื่นๆ เช่น โปรแกรมบัญชีออนไลน์อย่าง Quickbooks Online หรือ Xero ซึ่งจะช่วยให้วางแผนจัดการกระแสเงินสดได้ง่ายขึ้น ซึ่งปัจจุบันระบบ POS หลายแห่งสามารถทำงานร่วมกับโปรแกรมบัญชีนี้ได้เป็นอย่างดี ทำให้บริหารจัดการบัญชีได้ง่ายขึ้น ซึ่งข้อมูลโปรแกรมบัญชีออนไลน์นี้จะถูกเก็บไว้ในคลาวด์ สามารถดูบัญชีและกระแสเงินสดของธุรกิจได้ทุกที่ทุกเวลา และมีความปลอดภัยข้อมูลไม่รั่วไหล
2. บริหารงบดุล ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
หันมาโฟกัสที่งบดุลแทนรายได้ โดยให้ความสำคัญกับ 3 องค์ประกอบ ทั้งในส่วนของเจ้าหนี้การค้า ลูกหนี้การค้า และสินค้าคงเหลือ อาจลองเจรจาขอยืดระยะเวลาการจ่ายเงินซัปพลายเออร์ให้นานขึ้น หาวิธีกระตุ้นให้ลูกค้าจ่ายเงินเร็วขึ้นด้วยการจัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ที่เหลือก็ลองสำรวจค่าใช้จ่ายในธุรกิจว่าแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ใช้เงินเท่าไร อาจต้องดูย้อนหลังเป็นปี เพราะค่าใช้จ่ายบางอย่างต้องจ่ายเป็นรายปีหรือรายไตรมาส เช่น ใบอนุญาตบางอย่าง ซอฟต์แวร์บางประเภท แล้วพิจารณาดูว่าจะตัดลดส่วนไหนได้บ้าง ถ้าลดแล้วจะเพิ่มสภาพคล่องได้มากแค่ไหน เช่น เจรจาลดค่าเช่า เจรจาลดเงินเดือนพนักงานแลกกับการลดเวลาทำงาน เพื่อให้มีกระแสเงินสดหมุนเวียนในธุรกิจมากขึ้น
3. แปลงทรัพย์สินให้เป็นสภาพคล่อง
ของอะไรที่ไม่ได้ใช้และเปลี่ยนเป็นเงินได้ ให้ขายเลย เช่น อุปกรณ์ที่ในปัจจุบันไม่ค่อยได้ใช้ หรือสต็อกสินค้าที่เริ่มเก่า เพื่อให้ร้านมีกระแสเงินสดหมุนเวียนไม่ขาดสาย ก่อนที่ธุรกิจจะเต็มไปด้วยของเก่าที่ไร้ประโยชน์และทำอะไรไม่ได้ยกตัวอย่างเช่น แอร์เอเชียที่ตัดสินใจขายเครื่องบินแล้วเช่ากลับมาดำเนินการต่อ ด้วยเหตุผลว่าการเช่าจะใช้งบประมาณน้อยกว่าการซื้อเครื่องบินใหม่ ทั้งยังไม่ต้องคำนวณค่าเสื่อมราคาของเครื่องบิน รวมถึงไม่ต้องแบกรับต้นทุนเมื่อเครื่องบินถึงรอบในการตรวจสภาพด้วย
4. จัดโปรโมชั่นกระตุ้นให้ลูกค้าจ่ายเงินเร็วขึ้น
หนึ่งในกลยุทธ์ที่ดีในการกระตุ้นให้ลูกค้าจ่ายเงินเร็วขึ้นคือ การมอบส่วนลดหากชำระเงินในทันที เช่น ตามใบแจ้งหนี้มีระยะเวลาการชำระเงินภายใน 30 วัน แต่ถ้าจ่ายทันที มีส่วนลดให้ 10% หรือยิ่งไปกว่านั้นอาจมีข้อเสนอส่วนลดพิเศษให้ลูกค้าที่จ่ายล่วงหน้าด้วยก็ได้ วิธีนี้จะทำให้ธุรกิจได้รับการชำระเงินเร็วขึ้น มีเงินสดมาหมุนได้ทันใจ ถ้าเป็นร้านค้าก็จัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม อาจจับคู่แถมสินค้าที่ไม่เป็นที่นิยมในช่วงนี้ โดยเน้นการใช้ระบบ CRM เก็บข้อมูลลูกค้าอย่างชื่อ เบอร์โทร หรืออีเมล เพื่อเอาไว้ส่งข่าวสารโปรโมชั่นต่างๆ ของทางร้าน ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อของได้เร็วขึ้น
5. บริหารสินค้าคงคลังอย่างมีประสิทธิภาพ
ไม่ควรสต็อกสินค้าเกินพอดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์วิกฤตที่ธุรกิจกำลังมีปัญหาเรื่องกระแสเงินสด จะทำให้เงินทุนจมอยู่กับสินค้าคงคลังแทนที่จะได้ไปใช้บริหารในส่วนอื่น วิธีที่ดีที่สุดคือ ตรวจเช็กและติดตามสต็อกสินค้าอย่างแม่นยำ แล้วบริหารจัดการให้เข้ากับสถานการณ์ สินค้าไหนขายดี-ขายไม่ดี สินค้าไหนควรสต็อกและสินค้าไหนที่ควรหยุดขาย
6. ขอการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคาร
ปัจจุบันทั้งภาครัฐและสถาบันการเงินพร้อมใจกันออกมาตรการความช่วยเหลือต่างๆ ให้กับธุรกิจ SME ลองติดต่อธนาคารเพื่อขอคำปรึกษาด้านเงินทุนที่เหมาะกับธุรกิจ อย่างธนาคารไทยเครดิตเองก็ออกมาตรการความช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SME ทั้งด้านเงินทุนผ่านมาตรการ “สินเชื่อฟื้นฟู” ตามแนวทางความช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย และ “สินเชื่อ SME กล้าให้” ของธนาคารเอง และมาตรการพิเศษพักชำระหนี้ 2 เดือน ช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ Micro SME ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการควบคุมโรคติดต่อของทางการ โดยมีเจ้าหน้าที่ธุรกิจสัมพันธ์ (RM) คอยดูแลให้คำปรึกษาลูกค้าอย่างใกล้ชิด
ที่มา: www.storehub.com, www.marketingoops.com, thestandard.co, www.weon.website