SME กล้าเปลี่ยน MOREOVER “เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสด้วยงานออกแบบ”

16 มี.ค. 2565

SME Inspiration

พบกับคุณ ปุ้ม นวัต ศักดิ์ศิริศิลป์ Founder และ Design Director แบรนด์ MOREOVER ที่กล้าพาแบรนด์ของตัวเองออกนอกกรอบนักออกแบบที่เน้นดีไซน์เพียงอย่างเดียว มาเป็นรูปแบบที่เป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ายุค New Normal ได้อย่างทันท่วงที จนสามารถพลิกยอดขายที่หายไปในช่วงโควิด-19 กลับคืนมาได้อย่างรวดเร็ว 

 

 

กล้าก้าว

MOREOVER เป็นโจทย์ที่ท้าทาย ถ้าเราออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นแบรนด์ของตัวเอง จะมีคนเข้าใจในสิ่งที่เราอยากทำไหม หลังจากทำไปสักพักได้รับผลตอบรับดีกว่าที่คิดไว้ มีคนมาติดต่ออยากจะนำไปส่งออกด้วย จึงรู้สึกว่ามองเห็นโอกาสที่จะทำให้เป็นแบรนด์อย่างจริงจังสักที 

ตอนที่ไปเรียนคอร์สด้านการออกแบบ ผมเองได้ยื่นเสนอแผนธุรกิจก่อนเข้าไปเรียน นั่นก็คือแผนธุรกิจ MOREOVER เลย และสำหรับโปรเจกต์จบ ผมทำคอลเลกชันแรกสำหรับแบรนด์ MOREOVER ซึ่งได้นำไปจัดแสดงในงาน London Design Week ผลตอบรับดีมาก กลับมาเมืองไทยแล้วก็ยังมีคนมาติดต่อขอซื้อเพิ่มอีก 
 

กล้าแตกต่าง

ปรัชญาการออกแบบของ MOREOVER คือ Creative is More ผมเชื่อว่าสิ่งที่ทำให้มัน More (มาก) คือ “ความคิดสร้างสรรค์” ของคนที่คิดงานที่สอดแทรกเข้าไป และยังเชื่ออีกว่าสิ่งทำให้มัน More มากขึ้นคือ ความคิดสร้างสรรค์จากลูกค้าเราเอง ดังนั้นในการออกแบบผลิตภัณฑ์ทุกชิ้น เราจะใส่ข้อความหรือรูปแบบการใช้งานบางอย่างเข้าไป เพื่อสื่อสารไปยังลูกค้าให้ช่วยต่อเติมบางอย่างให้ความคิดสร้างสรรค์นั้นสมบูรณ์มากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ Jewelry Trees เปิดโอกาสให้ผู้หญิงนำเครื่องประดับที่เก็บไว้และไม่ได้ใช้มาตกแต่งบนต้นไม้ ทำให้ต้นไม้นี้กลายเป็นของตกแต่งบ้านได้ ส่วนคอลเลกชัน “โอริกามิ” เกิดจากความถนัดของผมที่เป็นผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ และเข้าไปช่วยเหลือด้านบรรจุภัณฑ์ ในการทำโครงสร้างต่างๆ จึงนำความถนัดทั้ง 2 ด้านมารวมเข้าด้วยกัน ออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีรูปแบบการใช้งาน 

แบรนด์ของเราถือเป็นแบรนด์ขนาดกลางที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าหลักๆ จะแบ่งออกเป็นของแต่งบ้าน อุปกรณ์ที่ใช้บนโต๊ะทำงาน อุปกรณ์เก็บเครื่องประดับ และสุดท้ายที่เพิ่งเปิดตัวใหม่สดๆ ร้อนๆ ก็คือ เครื่องหอม Home Diffuser เป็นคอนเซปต์การตกแต่งบ้านด้วยกลิ่น ซึ่งตอนนี้เราก็ยังพยายามขยายหมวดหมู่สินค้าให้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะต้องการให้สินค้าของเราเป็นไลฟ์สไตล์มากกว่าแค่ผลิตภัณฑ์ที่ใช้และเห็นด้วยตาอย่างเดียว 

 

เปลี่ยนเพื่อไปต่อ

จุดเปลี่ยนสำคัญคือ ช่วงโควิด-19 สินค้าเราจำหน่ายในห้างฯ มากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งส่งออก ซึ่งหยุดชะงักทั้งคู่ เราจึงต้องเปลี่ยนไปขายออนไลน์ เข้าร่วมกับ Market Place หลายๆ แพลตฟอร์ม รวมถึงทำช่องทางการขายของเราเอง ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ เพื่อให้ติดต่อลูกค้าได้มากขึ้น 

ด้านการออกแบบก็เน้นตอบโจทย์พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในยุค New Normal เช่น ผู้บริโภคสั่งอาหารเดลิเวอรีหรือสั่งของออนไลน์มากขึ้น เราเลยออกแบบกล่อง Drop Box ที่สามารถรับอาหารและพัสดุชิ้นใหญ่ขึ้นได้ และยังคงรูปแบบการใช้งานเดิมที่รับจดหมายได้ด้วย หรือในช่วง Work From Home เราสังเกตว่าคนหันมาสนใจการจัดโต๊ะทำงานมากขึ้น ถึงกับมีกลุ่มเฉพาะด้านการจัดโต๊ะทำงานในเฟซบุ๊ก เราจึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้บนโต๊ะทำงาน เพื่อให้ตอบโจทย์มากขึ้น รวมถึง Magnet Board แผ่นแม่เหล็กที่ใช้ติดโน้ตต่างๆ ที่สามารถใช้ตกแต่งผนังได้ด้วย เราจับพฤติกรรมเหล่านี้มาสร้างสินค้าชิ้นใหม่ และทำให้เกิดยอดขายที่สามารถทดแทนยอดขายทั้งหมดที่หายไปได้ 

 

ความคิดเห็นของลูกค้าเป็นทรัพย์สินที่สำคัญที่สุด

เรามองว่าความคิดเห็นของลูกค้าเป็นสิ่งที่เราหาไม่ได้จากที่อื่นเลย การที่เราได้พูดคุยกับลูกค้าที่เปรียบเสมือนตัวแทนของผู้บริโภค ทำให้เราได้คำแนะนำ และความคิดเห็นต่างๆ มาพัฒนาสินค้าของเรา เช่น ในขั้นตอนการทดสอบ เราสามารถเลือกกลุ่มลูกค้าที่สนิทให้ช่วยได้ ทำให้แบรนด์ของเราออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็ว มีคุณภาพ และมีดีไซน์ที่จับต้องได้ ช่วยส่งเสริมบรรยากาศของความคิดสร้างสรรค์ ตรงกับโจทย์ที่เราตั้งใจออกแบบมา เป็นสิ่งที่ทีมของเราพอใจในการออกแบบสินค้าใหม่ๆ ให้กับลูกค้า 

 

กล้าก้าวอย่างมั่นคง

ทีมเรามีความถนัดเฉพาะทาง โดยส่วนใหญ่เป็นดีไซน์เนอร์ จึงมองว่าทีมเราจะต้องหาความรู้เพิ่มเติม เช่น ความรู้ด้านการตลาด หรือมีแนวความคิดแบบ “Multidisciplinary” คือ นำแนวความคิดของสาขาต่างๆ เข้ามาช่วย เราจะเด่นแต่เรื่องการออกแบบอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ให้ได้  

อยากให้กำลังใจผู้ประกอบการ SME ทุกท่านนะครับ จริงๆ ผมมองว่าในทุกวิกฤตจะมีโอกาสซ่อนอยู่ เพียงแต่ว่าเราสามารถใช้การออกแบบและความคิดสร้างสรรค์เข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ เหมือนกับที่แบรนด์เราก็มีการปรับเปลี่ยนจากที่เน้นดีไซน์อย่างเดียว มาเป็นรูปแบบของแบรนด์ที่เป็นไลฟ์สไตล์ ตอบโจทย์ในแง่มุมต่างๆ ของชีวิตมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ผมเชื่อว่าทุกท่านก็สามารถทำได้เหมือนกัน

สาระ SME น่ารู้ที่เกี่ยวข้อง