SME กล้าเปลี่ยน "วันที่ต้องสู้ของธุรกิจ ออร์แกไนเซอร์"

16 มี.ค. 2565

SME Inspiration

SME กล้าเปลี่ยน พบกับ 2 ผู้ก่อตั้งบริษัทออร์แกไนเซอร์มือทองที่คร่ำหวอดในวงการคอนเสิร์ตและงานอีเว้นต์ ซึ่งต้องปรับตัวและต่อสู้ในวันที่โควิด-19 ทำให้ธุรกิจจัดงานคอนเสิร์ตและอีเว้นต์ที่เคยทำรายได้มหาศาลไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
 



เมื่อ COVID-19 ทำธุรกิจ Organiser ได้รับผลกระทบแบบเต็มสูบ

นโรตม์ อภิมุขวรสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท Keep In Touch Project จำกัด 

เราเป็นคอนเสิร์ตออแกไนเซอร์ หลักๆ คือ คอนเสิร์ตของ Atime คอนเสิร์ตใหญ่ที่เคยทำมา เช่น คอนเสิร์ต J-DNA คอนเสิร์ต Christina Kingdom และกรีนคอนเสิร์ตที่ทำมาตลอดตั้งแต่ปี 2551 ในเหตุการณ์ปกติ ผมทำงานปีละประมาณ 100 งาน เฉลี่ย 4 วันต่องาน หรือสัปดาห์ละ 2 งาน 
ปี 2563 เริ่มทราบข่าวโควิด-19 ว่า เป็นโรคระบาดที่ค่อนข้างรุนแรง จำได้ว่า วันนั้นกำลังเตรียมงานคอนเสิร์ตกลางแจ้งอยู่ที่นครปฐม ช่วงบ่ายผู้จัดโทรมาขอยกเลิก หลังจากนั้นทุกสัปดาห์ ผมจะได้รับโทรศัพท์จากลูกค้าให้เลื่อนงานนั้นงานนี้ไปก่อน เลื่อนไปเรื่อยๆ จนผมคิดว่าแย่แล้ว เราเป็นบริษัทรับจ้างผลิต ถ้าผู้จัดยกเลิกเราก็ไม่มีงานทำแน่ๆ ตอนนั้นคิดอะไรไม่ออก จะทำอะไรแทน หรือทำอย่างไรก่อน จะเอาเงินที่ไหนจ่ายเงินเดือนลูกน้อง 


กฤตยา สัณฑมาศ Co-founder บริษัท Mi6 Bangkok จำกัด 

เราเป็นบริษัทอีเว้นท์เอเจนซี่ เริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 เปิดได้สักพัก มีงานเข้ามาแน่นมาก เราทำเปิดตัว Samsung มาแล้วหลายรุ่น จัดงาน Joox Festival ที่หน้า Show DC มา 2 ปีติด รวมถึงเป็นโปรโมเตอร์จัดคอนเสิร์ตโจอี้ บอยที่สวนน้ำที่พัทยา คอนเสิร์ตบุรินทร์ที่อิมแพคฯ ยังคุยกับลูกน้องว่า ปีนี้เรามีเป้าที่เท่าไร เราจะไปไหน เราจะได้โบนัสเท่าไร 
พอต้นปี 2563 มีโควิด-19 เข้ามา ตอนแรกไม่คิดว่ามันจะยาวนานและรุนแรงขนาดนี้ แต่พอเข้าเดือนเมษายนจึงรู้ว่ามันกระทบรุนแรงทั้งโลก ซึ่งงานอีเว้นต์เป็นเรื่องของการรวมตัวกัน ดังนั้นการระบาดในเฟสแรกที่ทุกคนยังไม่รู้ว่าโควิด-19 คืออะไร จะจัดการอย่างไร ทุกคนหยุดหมด หยุดทุกกิจการ ธุรกิจเราจึงได้รับผลกระทบ 100%  


เปลี่ยนตามสถานการณ์ 

นโรตม์: ในช่วงแรกของโควิด-19 ปี 2563 งานคอนเสิร์ตที่ต้องรวมคนจำนวนมากทำไม่ได้ ทุกคนต่างคิดว่าจะทำอย่างไร จนเราเห็นตัวอย่างคอนเสิร์ตออนไลน์จากต่างประเทศ ก็นำมาปรับใช้ในเมืองไทยบ้าง  ในปี 2563 ผมคิดว่าคอนเสิร์ตออนไลน์ค่อนข้างประสบความสำเร็จ มีผู้จัดหลายราย ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ของคนดู แต่ก็ใช้ได้แค่ปีเดียว พอปี 2564 คอนเสิร์ตออนไลน์เงียบมาก เราลงความเห็นกันว่า มันเป็นสิ่งที่ดูแล้วเบื่อ ไม่ใช่ของจริง คอนเสิร์ตคือการได้ไปสัมผัสกับความรู้สึก ณ สถานที่จริง ได้ไปยืนเบียดกันกับเพื่อน นั่งด้วยกันกับแฟน ได้ร้องเพลงไปด้วยกัน พอมานั่งดูในจอทีวีสี่เหลี่ยมเล็กๆ จึงรู้สึกว่า มันไม่ได้ประสบการณ์แบบนั้น 

กฤตยา: เราเริ่มปรับตัว หาวิธีว่า ถ้าอีเว้นต์จัดแบบให้คนมารวมตัวกันไม่ได้ เราจะทำอย่างไร แล้วไปเห็นการทำอีเว้นต์ออนไลน์ ว่าจัดอย่างไร ไลฟ์สตรีมแล้วมีคนเข้ามาดู สามารถ Engagement กับคนดูได้ จึงเอา Content นี้ไปเสนอกับลูกค้า เรียกได้ว่าเราเป็นเจ้าแรกๆ ที่จัดงานแบบนี้ ก็ต้องบอกว่ามันช่วยได้ แต่ไม่ได้เยอะมาก เพราะการจัดอีเว้นท์เม็ดเงินค่อนข้างเยอะ งานหนึ่งใช้เงินหลักล้านบาทตลอด แต่พอมาทำเป็นโซเชียลมีเดีย เงินลดลงมาค่อนข้างเยอะ และเด็กของเราไม่มีพื้นฐานงานออนไลน์ ก็ต้องส่งไปเรียน เพิ่มค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อีก แต่ก็พยายามปรับตัวให้ดีที่สุด ไม่ได้นึกถึงกำไร คิดแค่ว่า จะทำอย่างไรให้น้องๆ เราอยู่ได้
 

หาไอเดียใหม่เพื่อความอยู่รอด 

นโรตม์: ผมบอกน้องๆ ว่า ช่วงนี้อะไรที่เป็นรายได้ ทำไปเลย ส่วนที่เราช่วยได้คือ เงินเดือน 75% 50% ก็ยังจ่ายอยู่เรื่อยๆ ทีนี้พอสถานการณ์หนักขึ้น รายได้ผมน้อยลงจนเงินที่สะสมไว้ก็จะหมด จึงชวนกันหาอะไรทำ น้องคนหนึ่งเสนอให้ทำเสื้อยืดขาย ซึ่งช่วงโอลิมปิกที่ผ่านมา Pictogram กำลังฮิต จึงนำมาประยุกต์เป็นการละเล่นไทย เป็น Pictogram ลายกระโดดหนังยาง รีรีข้าวสาร ปิดตาตีหม้อ เดินกะลา ผมว่าน่าสนุกดี จึงเสนอออกทุนให้ ช่วยกันขาย หักต้นทุนแล้วได้เท่าไร ให้น้องๆ ไปเลย 

กฤตยา: ทุกคนรู้ว่า เราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ได้เงินมาหล่อเลี้ยงเงินเดือนน้องๆ เลยไปดูเมืองนอกว่าเขาทำอะไรกันบ้างในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ไปเจอพวกฉากกั้น (Shield) จึงให้น้องๆ ลองออกแบบดู ทำให้มันสามารถใช้ในที่ต่างๆ ได้ เช่น ห้างร้าน ร้านอาหาร ซึ่งโชคดีมากที่บุญถาวรมาเจอเราแล้วสั่งไปล็อตใหญ่ เพื่อนำไปขาย และใช้ในสาขาของเขา ทำให้ได้รายได้เข้ามาประมาณหนึ่ง แต่ถ้าเทียบกับรายได้จากการทำอีเว้นต์ มันคนละเรื่องกันเลย  


ต้องกล้าและไม่หยุดนิ่ง 

นโรตม์: ผมคิดว่าคงปรับเปลี่ยนรูปแบบไปบ้าง เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์หรือโรคร้ายได้ แต่คงไม่ได้เปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือหรือเปลี่ยนวิธีไปเลย เพราะหัวใจของการดูคอนเสิร์ต การแสดงสด มันคือการเข้าไปมีส่วนร่วมแบบสดๆ พร้อมๆ กัน ผมจะพยายามรักษาพนักงานไว้ ยามสุข เราสุขด้วยกันมาแล้ว ยามทุกข์ ก็ร่วมทุกข์ด้วยกัน 

กฤตยา: พยายามเอาตัวรอด เพราะถ้าอยู่เฉยๆ ไม่รอดแน่นอน ถ้าเขาทำแบบนี้ได้ เราก็ต้องทำได้ ต้องเรียนรู้ตลอดเวลาว่า เขาทำอย่างไรกัน ระบบไลฟ์สตรีมมิ่งทำอย่างไร หลากหลายรูปแบบ สัมมนาเป็นแบบนี้ คอนเสิร์ตเป็นแบบนี้ ต้องศึกษาและลองทำ บอกได้เลยว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ทุกคนก็ปรับตัว พยายามอยู่รอดให้ได้ค่ะ 

สาระ SME น่ารู้ที่เกี่ยวข้อง