SME กล้าเปลี่ยน Miss Mamon และ Taroto

16 มี.ค. 2565

SME Inspiration

SME กล้าเปลี่ยนพบกับ คุณวุฒิ วรวุฒิ นิสภกุลธร เจ้าของแบรนด์ร้านขนม Miss Mamon และ Taroto เชนขนมหวานสัญชาติไทยที่เริ่มต้นธุรกิจจากความคิดต่าง หาจุดแข็งที่ชัดเจนให้กับแบรนด์ของตนเอง พร้อมแนวคิดในการปรับตัวทางธุรกิจให้สามารถข้ามผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปให้ได้

 


 

ก้าวที่กล้า
เบเกอรีมิสมาม่อนเปิดมาตั้งแต่ปี 2548 วันนี้เราขึ้นปีที่ 16 แล้ว ถือว่าผ่านร้อนผ่านหนาวในธุรกิจเบเกอรีมาพอสมควร ความฝันของเราคือ เป็นเชนเบเกอรีไทยที่มีหลายสาขา และขยายไปต่างประเทศ ถ้าเราไม่เริ่มจากความต่างของแบรนด์ การยืนระยะให้ยาวจะลำบากและเหนื่อย ผมเชื่อว่าความต่างหลักของเราคือ ผลิตภัณฑ์ เรามองว่าเราต้องมี Product Champion หรือ Product Highlight สักตัวหนึ่งให้คนนึกถึงแบรนด์เรา คนที่รู้จักมิสมาม่อนจะเห็นว่าเราเป็นเค้กมาม่อนสูตรต้นตำรับ ถ้าอยากกินขนมมาม่อนเนื้อนุ่มๆ เบาๆ เป็นสปันจ์เค้ก ต้องนึกถึงมิสมาม่อน

ทาโรโตะ วิธีคิดก็เช่นเดียวกัน ทำไมต้องเรา เมื่อมองธุรกิจขนมหวานในบ้านเรา จะเห็นว่ามาจากตะวันตกเยอะ ทั้งแพนเค้ก ชีสทาร์ต ไม่มีขนมหวานแนวตะวันออกเลย จึงรู้สึกว่าน่าสนใจ ทำขนมหวานแนวตะวันออกตั้งอยู่ในห้างหรือในที่ที่คนเข้าถึงได้สะดวก แล้วเพิ่มจุดขายของแบรนด์เราเข้าไปคือ เป็นขนมหวานที่หวานน้อย กินแล้วไม่รู้สึกผิดมาก และใช้เครื่องเคียงที่มาจากธรรมชาติ ให้รู้สึกว่ากินแล้วอร่อยและยังได้เรื่องสุขภาพด้วย

วิกฤตโควิด-19
วันที่มีการประกาศปิดห้างสรรพสินค้าซึ่งเป็นช่องทางหลักของคนทำธุรกิจ SME ระดับกลาง ตั้งแต่ระลอกที่ 1 ถึงระลอกที่ 4 แน่นอนว่ายอดขายลดลง มิสมาม่อนและทาโรโตะมีสาขารวมกัน 16 สาขา อยู่ในห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ เป็นหลัก ยอดขายเฉลี่ยของทั้ง 2 แบรนด์ ก่อนโควิด-19 ประมาณวันละ 40,000 – 50,000 บาท วันนี้เหลือแต่เดลิเวอรีอย่างเดียว ก็เหลือยอดขายสัก 30% ของยอดขายที่เราเคยได้ปกติ หรือประมาณวันละ 10,000 กว่าบาท ถือว่ากระทบพอสมควรครับ

กล้าเปลี่ยน
วันนี้พฤติกรรมคนเปลี่ยนไป คนเดินห้างน้อยลง เพราะมาตรการภาครัฐที่สั่งปิดด้วย เราเห็นแนวโน้มการเติบโตนอกห้างตั้งแต่ระลอกที่ 1 และเริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ จุดแรกเราจึงเริ่มขยายสาขาไปที่สถานีบริการปั๊มน้ำมัน เพราะเชื่อว่าเป็นจุดที่ลูกค้าเข้าถึงได้ง่าย แทนที่จะต้องจอดรถเดินขึ้นไป 5 ชั้น กลายเป็นจอดรถหน้าปั๊ม เดินเข้าไปหยิบของกลับบ้าน Grab ฿ Go ได้เลย และเพิ่มสาขาในโฮมโปรด้วย จุดที่ 2 เราปรับผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจนขึ้น เป็นเดลิเวอรี Take Home ให้ลูกค้าซื้อไปกินที่บ้านได้ จุดที่ 3 เรามองถึงช่องทางออนไลน์ เราขยับเข้าไปใน Shopee ใน Rabbit Line Pay หลายช่องทาง เป็นการปรับตัวไปในช่องทางที่พอเหลืออยู่ ที่สำคัญต้องดูว่าลูกค้าตัวเองอยู่ตรงไหน แล้วไปในช่องทางนั้น

ต้องกล้า
ผมเชื่อว่า SME ทุกท่านมีความกล้าตั้งแต่วันที่ตัดสินใจจะทำธุรกิจแล้ว ถามว่าในช่วงโควิด-19 กล้าอย่างไร ผมเชื่อว่าครอบครัวผมไม่ได้มีแค่ภรรยาและลูกเท่านั้น ครอบครัวผมคือพนักงานมิสมาม่อนและทาโรโตะทุกคนรวม 100 ชีวิต ผมเชื่อว่าคนคือสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการสร้าง เมื่อสร้างขึ้นมาแล้ว พอเกิดวิกฤตขึ้นมา เราไม่ใช่หุ่นยนต์ที่ตัดทุกอย่างไปได้เลย ดังนั้นสิ่งที่พยายามทำอยู่คือ การปรับตัวเพื่อดูแลคนของเราให้มีกำลังใจที่จะเดินต่อ พร้อมรอวันที่ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม แล้วก็วิ่งต่อไปครับ

ต้องเปลี่ยน
สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ช่องทางการขายที่ไม่เหมือนเดิม ดังนั้นจุดที่ต้องเปลี่ยนคือ วิธีคิดในการทำธุรกิจ คิดให้ลึกขึ้น ชัดขึ้น เข้าถึงลูกค้าได้ตรงเป้าหมายที่สุด วันนี้ทุกคนพูดว่า ต้องไปทางออนไลน์ ต้องไปทางเดลิเวอรี แต่ชีวิตจริงง่ายอย่างนั้นไหม มันไม่ง่ายอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นเดลิเวอรีหรือออนไลน์ก็ตาม ต้องมองให้ลึกว่าลูกค้าเราชอบอะไร อย่างไร อยู่ตรงไหนแน่ๆ ตั้งแต่วิกฤตระลอกที่ 1 ถึง 4 ยอดเดลิเวอรีไม่ได้มากขึ้น เพราะ Sharing เยอะขึ้น ลูกค้ากำลังซื้อลดลง ทุกคนจึงต้องพยายามนำเสนอสิ่งที่ดีให้ลูกค้า ให้ลูกค้าซื้อแบรนด์ตัวเอง ซึ่งเป็นความท้าทายของทุกคน รวมทั้งตัวผมเองด้วย

สุดท้ายผมว่ากำลังใจสำคัญที่สุด ถ้าเราไม่ท้อ และเราอึดอยู่ได้ อาจจะไม่ดีเหมือนเดิม แต่ผมเชื่อว่าถ้าใจมา ทุกอย่างก็จะเป็นไปได้ ขอให้ทุกคนมีกำลังใจที่ดี ขอเป็นกำลังใจให้ SME ทุกท่าน ขอบคุณครับ

สาระ SME น่ารู้ที่เกี่ยวข้อง