เริ่มแล้ว! ภาษีพ.ร.บ.อี-เซอร์วิส ที่ธุรกิจ SME ต้องรู้

2 มี.ค. 2565

SME Trend

เริ่มแล้ว! ภาษีพ.ร.บ.อี-เซอร์วิส ที่ธุรกิจ SME ต้องรู้

ทุกวันนี้การทำธุรกิจ SME พึ่งพาการทำการตลาดดิจิทัลชนิดที่แยกกันไม่ออก เพราะเป็นช่องทางที่เข้าถึงลูกค้าหรือผู้บริโภคที่ง่าย รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ สามารถวัดผลเป็นรูปธรรมจับต้องได้ โดยจากการประเมินของสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) อุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัลในปี 2564 จะมีมูลค่าถึง 22,800 ล้านบาท ขยายตัว 8% จากปี 2563 เรียกได้ว่าเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง และด้วยเม็ดเงินอันมหาศาล รัฐบาลประเทศต่างๆ จึงเริ่มออกกฎหมายจัดเก็บภาษีแพลตฟอร์มออนไลน์ยักษ์ใหญ่จากต่างชาติเหล่านี้ รวมถึงประเทศไทยเองก็จะเริ่มจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ ผ่านพ.ร.บ.อี-เซอร์วิส ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 นี้


รู้จักกับ พ.ร.บ.อี-เซอร์วิส
พ.ร.บ.อี-เซอร์วิส เป็นพ.ร.บ.ที่ให้อำนาจกรมสรรพากรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 7% จากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการจากต่างประเทศ และไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทขึ้นในไทย โดยมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น 5 กลุ่มดังนี้
• ธุรกิจแพลตฟอร์ม E-Commerce ได้แก่ Amazon Ebay แต่ไม่รวมถึงมาร์เก็ตเพลสอย่าง Lazada หรือ Shopee เพราะจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศไทยซึ่งมีภาระภาษีอยู่แล้ว
• ธุรกิจที่มีรายได้จากค่าโฆษณา เช่น Facebook YouTube Google
• ธุรกิจเอเย่นต์จำหน่ายสินค้าและบริการ เช่น แพลตฟอร์มท่องเที่ยวอย่าง Booking หรือ Agoda
• ธุรกิจตัวกลาง หรือ P2P เช่น บริการเรียกแท็กซี่ ฟู้ดเดลิเวอรี อย่าง Grab Airbnb
• ธุรกิจที่มีรายได้จากระบบสมาชิก เช่น  Netflix Spotify หรือ Apple Play

โดยตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการทั้ง 5 กลุ่มนี้จะต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มภายใต้พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นรายเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป และมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีด้วย โดยจะเริ่มยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนกันยายน 2564 ภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2564

พ.ร.บ.อี-เซอร์วิสจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ SME อย่างไร
• บริษัทนิติบุคคลที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 20) ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะมีการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มในการซื้อโฆษณาหรือทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้อยู่แล้ว แต่จะได้ประโยชน์จากการที่คู่แข่งที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต้องแบกรับต้นทุนภาษีเพิ่มขึ้น จึงโอกาสแข่งขันด้านราคาได้มากขึ้น
• บริษัทนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม อาจมีภาระต้นทุนสูงขึ้นจากการผลักภาระภาษีมูลค่าเพิ่มที่แพลตฟอร์มต้องนำส่ง เช่น ต้องจ่ายเงินค่าโฆษณาสูงขึ้น โดยบวกเพิ่มจากค่าใช้จ่ายเดิม 7% โดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่าง เดิมเคยซื้อโฆษณาผ่าน Facebook หรือ Youtube เดือนละ 10,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป จะต้องจ่ายเพิ่มเป็น 10,700 บาท

ถึงแม้ว่าพ.ร.บ.อี-เซอร์วิสดูจะทำให้ผู้ประกอบการ SME ต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ถ้ามองในภาพรวม พ.ร.บ.ฉบับนี้มีข้อดีด้านการสร้างความเป็นธรรมในการเสียภาษีระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการจากต่างประเทศ รวมถึงยกระดับการจัดเก็บภาษีของไทยให้สอดรับกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ทั้งยังสร้างรายได้ให้ประเทศเพิ่มขึ้นอีกราวปีละ 5,000 ล้านบาท


SME ต้องปรับตัวอย่างไร
สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม อาจต้องปรับตัวในด้านต่างๆ ดังนี้
• สร้างแบรนด์ หาจุดแข็งให้ตนเอง ด้วยการหาสินค้าหรือบริการที่แตกต่าง ชูจุดแข็งของตนเอง เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันแทนการแข่งขันด้านราคาเพียงอย่างเดียว
• ปรับแผนงบประมาณ พิจารณาลดทอนงบประมาณส่วนอื่นลงเพื่อทดแทนงบโฆษณาที่สูงขึ้น
• ปรับกลยุทธ์การโฆษณา ระบุกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการขายสินค้าหรือบริการให้ชัดเจนขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายในการยิงโฆษณา

ที่มา: www.thairath.co.th; contentshifu.com

 

สาระ SME น่ารู้ที่เกี่ยวข้อง